เริ่มแล้วงาน ไทยฟุ้ง ปรุงไทย “เลิศล้ำภูมิปัญญา เลอค่ารสชาติไทย”

กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดโลกมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งปี ชวนประชาชน ชิมรสชาติ (ฟรี)
เมนูอาหารถิ่นทั่วไทย เต็มอิ่มกับคอนเสิร์ตลูกกรุง-ลูกทุ่ง การแสดงดนตรีสากล-เพลงพื้นบ้านครบเครื่อง


เมื่อวันที่ 20 ก.ย. วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จัดพิธีเปิดงาน “ไทยฟุ้ง ปรุงไทย” (Thai Taste Thai Fest 2024) โดยมี น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการวธ. เป็นประธานเปิดงาน นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดวธ. พร้อมผู้บริหารวธ.

นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีสวธ. นายสมพล ตรีภพนารถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ศูนย์การค้าบริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) นายบริพันธ์ ชัยภูมิ นายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย
พร้อมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นฯ ประจำปี 2567 ร่วมด้วยองค์กรภาคีด้านวัฒนธรรม ร่วมงาน ณ Royal Park Plaza ชั้น 1 ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค กทม.

น.ส. สุดาวรรณ ได้มอบเกียรติบัตรให้จังหวัดที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 18 รายการ 15 จังหวัด / มอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 23 ราย และมอบเกียรติบัตร กิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร จากนั้น นางสาวสุดาวรรณ ได้กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลพร้อมกล่าวเปิดงาน ว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ที่สะท้อนตัวตน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อันประกอบด้วย
1) วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา 2) ศิลปะการแสดง 3) แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและงานเทศกาลต่าง ๆ 4) เป็นความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล รวมไปถึงทักษะ 5) งานช่างฝีมือดั้งเดิม หรือแม้แต่
6) การเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้านและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ซึ่งถูกสร้างขึ้นและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า มรดกภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ เป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็น soft power สำคัญในการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จึงมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของมรดกภูมิปัญญาฯ ของชาติ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงดำเนินการอย่างรอบด้าน เช่น 1) การบันทึก การวิจัย 2) การจัดทำบัญชี ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ 3) การถ่ายทอดความรู้ทักษะ 4) การประกาศขึ้นบัญชี 5) การยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อมรดกฯ 5) การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอนุรักษ์ฟื้นฟู และ 6) การนำเสนอเผยแพร่ความรู้เมนูอาหารถิ่นของทุกจังหวัด ในช่องทางต่าง ๆ ยังได้รับความร่วมมือจาก อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ช่วยสร้างกระแสการรับรู้ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ อีกด้วย
“นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ยังให้ความสำคัญในการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของประเทศผ่านเวทียูเนสโก เช่น โขน นวดไทย โนรา สงกรานต์ และที่กำลังจะได้รับการประกาศในปลายปีนี้ ได้แก่ รายการ ต้มยำกุ้ง และ มรดกร่วมเคบายา ที่เสนอร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซีย บรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่ง งานไทยฟุ้ง ปรุงไทย ในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติสืบทอด สร้างความภาคภูมิใจให้เจ้าของมรดกภูมิปัญญา นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญอันจะส่งผลให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป” รมว.วธ. กล่าว


ผู้ที่มาเที่ยวชมงาน ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.นี้ ณ Royal Park Plaza ชั้น 1 ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค กทม. จะได้เรียนรู้และประทับใจกับ การสาธิตทางวัฒนธรรม รายการที่ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จำนวน 5 รายการ ได้แก่ สาธิตการปักชุดไทย การแกะสลักผลตูมกา การสานปลาตะเพียนใบลาน สาธิตการทอผ้าและการเขียนเทียนบนผ้าม้ง สาธิตการลงถมบนเครื่องประดับ ชมนิทรรศการองค์ความรู้ รายการต้มยำกุ้ง และรายการมรดกร่วม เคบายา ซึ่งเป็นรายการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยยูเนสโก และยังมีซุ้มสาธิตคอสเพลย์เยอร์ ภายใต้ชื่อ “4 COS คอสเพลย์ 4 ภาค ไทยแลนด์” มาเพิ่มสีสันภายในงาน ทุกวัน ทั้งนี้เฉพาะวันที่ 21 ก.ย. ช่วงเช้ามีเสวนาเปิดโลกงานวิจัยวัฒนธรรม ในหัวข้อ ซอฟต์พาวเวอร์ในมิติพหุวัฒนธรรม -แนวทางการอนุรักษ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จ.นครศรีธรรมราชแบบชุมชนมีส่วนร่วมโดยใช้เทคโนโลยีทัวร์เสมือนจริง -ประเพณีสิบสองเดือน เมืองโบราณเวียงลอ อ.จุน จ.พะเยาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก -สำรับอาหารพื้นถิ่นในคาบสมุทรสทิงพระ เป็นต้น และ ช่วงบ่าย มีการเสวนาแชร์ประสบการณ์และให้ข้อคิดในการเป็นคอสเพลย์เยอร์ พร้อมทั้งร่วมพูดคุยในเรื่อง “วัฒนธรรมไทยคอสเพลย์เยอร์” กับการคอสเพลย์


พลาดไม่ได้ต้องมาชิม (ฟรี) ทุกวันกับเมนูอาหาร 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวม 77 เมนูจากทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร อาทิ แกงส้มใบสันดาน จากจันทบุรี แกงอีเหี่ยว จากเพชรบูรณ์ แกงนอกหม้อ จากนครสวรรค์ ยำไก่ผีปู่ย่า จากสุโขทัย นมเนียล จากสุรินทร์ ส้มตีนโคขุนโพนยางคำ จากสกลนคร ขนมพระพาย จากพระนครศรีอยุธยา ขนมขึ้น นครศรีธรรมราช เป็นต้น ที่รวมมาไว้ในงานนี้งานเดียว และยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุก ใส่ชุดไทยถ่ายภาพฟรีในงาน เพียงทำตามกติกา จะได้รับไฟล์ภาพไปโพสโชว์บนโซเชียลทันที

​ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงพื้นบ้าน 4 ภูมิภาคหมุนเวียนแสดง มาสร้างความบันเทิง ทุกวัน โดยวันที่ 20 ก.ย. พบกับศิลปินลูกทุ่ง แซ็ค ชุมแพ การแสดงจากสมาคมศิลปินขับซอล้านนา สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย สมาคมกลองและศิลปะการแสดงล้านนา และการแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้าการชุดใหญ่ จากสมาคมอุปรากรจีน ในวันที่ 21 ก.ย. จุใจกับคอนเสิร์ตลูกทุ่งศิลปินแห่งชาติและศิลปินยอดนิยม 2 ชั่วโมงเต็ม นำโดย ชัยชนะ บุณโชติ ทศพล หิมพานต์ ศิรินทรา นิยากร กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ และรุ่ง สุริยา การแสดงจากโขนชุดพระรามตามกวางของสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน การแสดงหนังตะลุง ของสมาคมหนังตะลุงปักษ์ใต้ การแสดงสืบสานศิลป์เสียงแผ่นดินอีสาน ของสมาคมหมอลำอีสาน และ ลิเกร่วมสมัยสไตล์คอนเสิร์ต ชุดจันทรโครพ ของสมาคมลิเก ประเทศไทย และวันสุดท้าย วันที่ 22 ก.ย. ฟังคอนเสิร์ตเพลงลูกกรุง โดย วินัย พันธุรักษ์ สุดา ชื่นบาน วง สาว สาว สาว (แหม่ม พัชริดา , ปุ้ม อรวรรณ) โตโต้ The Golden Song ต่อด้วย การขับร้องเพลงลูกทุ่งโดย จอมขวัญ กัลยา การแสดงดนตรีโดยวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (Thai Youth Orchestra) วงดุริยางค์เครื่องลมเยาวชนไทย (Thai Youth Winds) การแสดงสมาคมศิลปินพื้นบ้านอีสานใต้และการแสดงเพลงพื้นบ้านชุดพิเศษ จากสมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลางแห่งประเทศไทย โดย น้าโย่ง เชิญยิ้ม ศิลปินแห่งชาติ ปีล่าสุด

ติดตามข่าวสารทางวัฒนธรรมได้ทาง www.culture.go.th และ แฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.facebook.com/DCP.culture