งานแถลงข่าวความร่วมมือโครงการต้นแบบเพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง
และป้องกันการหกล้มฯในผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวความร่วมมือในโครงการต้นแบบเพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันการหกล้ม กระดูกหัก รวมถึงการหักซ้ำ บริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย โดยมี น.ต.นพ.ธนัตถ์ วัลลีนุกุล กรรมการสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดทำโครงการความร่วมมือ และ ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ความร่วมมือและกล่าวเปิดงาน ซึ่งจัดขึ้น ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
งานดังกล่าวมีผู้บริหารระดับสูงจาก 9 หน่วยงาน ที่ให้การสนับสนุนโครงการประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กระทรวงมหาดไทย(มท.), กระทรวงสาธารณสุข(สธ.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมในงานและกล่าวถึงความร่วมมือในโครงการต้นแบบเพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหัก รวมถึงการหักซ้ำ บริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย
น.ต.นพ.ธนัตถ์ วัลลีนุกุล กรรมการสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า ขอขอบพระคุณ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย, หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส., สปสช., กรมควบคุมโรค, มท., สธ., ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และ ธนาคารกรุงไทย เป็นอย่างสูง สำหรับความร่วมมือที่ได้มอบให้ในโครงการต้นแบบเพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันการหกล้ม กระดูกหัก รวมถึงการหักซ้ำ บริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทยนี้
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุที่มีกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพกภายหลังพลัดตกหกล้มอย่างเป็นระบบ ในมิติของการป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูแบบบูรณาการร่วมกัน ทางทีมผู้รับผิดชอบโครงการจึงได้วิเคราะห์โครงการ “น่านโมเดล” และนำเสนอโครงการต้นแบบดังกล่าวในกลุ่มเป้าหมายพื้นที่ศึกษา 11 จังหวัด 1 เขต โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ภายใต้วัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. สร้างระบบในการตรวจคัดกรอง ให้การวินิจฉัยและเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีโรคกระดูกพรุนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพก
2. สร้างระบบในการจัดทำทะเบียนผู้ป่วยที่มีกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพก เพื่อเชื่อมข้อมูลผู้ป่วยที่รับการรักษาในสถานพยาบาลต่างๆ ส่งต่อข้อมูลเพื่อการดูแลต่อเนื่อง ฟื้นฟูสภาพที่บ้านและป้องกันการกระดูกหักซ้ำ
3. สร้างระบบวิเคราะห์ค้นหาปัจจัยของการหกล้ม การหกล้มซ้ำ ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการ การเข้าถึงบริการ และผลกระทบในด้านต่างๆ
4. พัฒนาแนวทางการขยายผลโครงการต้นแบบที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
5. ศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์รวมถึงภาระงบประมาณของภาครัฐในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
ทางทีมผู้รับผิดชอบโครงการฯ หวังว่าโครงการนี้จะสามารถลดอัตราการเจ็บป่วยจากการหกล้ม อัตราการตายจากกระดูกสะโพกหัก เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก รวมถึงลดภาระด้านค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยในระยะยาวได้
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานรับเลือกราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างมาตรฐานการดูแลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้มและการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะในบริเวณข้อสะโพก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและเป็นภาระทางสุขภาพที่สำคัญ โดยทางสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นความสำคัญและผลการดำเนินการโครงการ “น่านโมเดล” จึงต้องการขยายโครงการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการพลัดตกหกล้มโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และมีระบบการติดตามผู้สูงอายุที่มีประวัติหกล้มกระดูกหักโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เป็นการผสมผสานระหว่าง primary และ secondary prevention ได้อย่างลงตัวรวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ในจังหวัดอื่นได้
ศ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมความเป็นเลิศเเละคุณค่าองค์กร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่สนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถสื่อสารความรู้และการดูแลตนเองตามความเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลการรักษาและการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และการจัดส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับ“นวัตกรรมด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และระบบสุขภาพในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ผศ.พ.ต.ต. นพ.ธงชัย สุนทราภา อุปนายกคนที่ 1 สมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ กล่าวว่า ในนามของกลุ่มศัลยแพทย์กระดูกและข้อทั่วประเทศ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนในการประสานความร่วมมือเครือข่ายเพื่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานในระดับนโยบาย ระดับพื้นที่ และระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการให้คำปรึกษาและความรู้เกี่ยวกับระบบการดูแล ติดตามและเฝ้าระวังในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก รวมถึงการหักซ้ำบริเวณรอบข้อสะโพก เพื่อสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและลดความเสี่ยงในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ดำเนินโครงการต้นแบบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกระดูกหักและหักซ้ำบริเวณรอบข้อสะโพกในผู้สูงอายุไทย พัฒนาทักษะการดูแลผู้สูงอายุผ่านบุคลากรสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงญาติ ผู้ใกล้ชิด เพื่อ 1. สร้างระบบการพัฒนาต้นแบบในการป้องกัน ลดการพลัด ตก หก ล้ม และกระดูกหักบริเวณรอบสะโพกทั้งรายใหม่ และการหักซ้ำ 2. พัฒนาแนวทางการขยายผล 3. พัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศที่ใช้ดูแล และเฝ้าระวังผู้สูงอายุไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 4. ศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น ต้นทุนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และญาติ ภาระงบประมาณภาครัฐ ผู้สูงอายุที่เกิดการพลัด ตก หกล้ม และกระดูกหักบริเวณรอบข้อสะโพก มักจะเกิดการหักซ้ำ ซึ่งการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข และอสม. ในพื้นที่จะเป็นการทำงานเชิงป้องกัน สามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดมท. กล่าวว่า นับเป็นภารกิจสำคัญของพวกเราชาวมหาดไทยในการร่วมเป็นพันธมิตรกับทางหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ และสมาคมออร์โธปิดิกส์ฯ ที่จะผนึกกำลังร่วมกันขับเคลื่อนส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกของประชาชนทุกช่วงวัยผ่านหน่วยงานกลไกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตารางนิ้วของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน”
นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก และหากมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ ไปในจังหวัดอื่นๆ ด้วย จะทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับประโยชน์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มีระบบการตรวจสอบความเสี่ยงของผู้ที่มีความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม รวมถึงระบบที่จะป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุมีการหักซ้ำอีก
นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช.กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การดูแลรักษา หรือแม้กระทั่งการฟื้นฟูหลังผ่าตัดที่จะทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้รวดเร็ว เป็นสิ่งที่ดีและต้องบูรณาการ สำหรับ สปสช. เป็นเพียงแค่หน่วยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ เรื่องข้อมูลต่าง ๆ ยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะโครงการนี้มีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและกับทางระบบ ซึ่งต้องให้เครดิตทางศิริราชที่ช่วยสร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมา และเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการไปพร้อมกัน
น.ส.ทวีพร เกตุอร่าม ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารเภสัชภัณฑ์และเซลล์บำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในบทบาทของ TCELS จะเข้าไปมีบทบาทอยู่ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ ซึ่งพร้อมในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้โครงการนี้ขับเคลื่อนต่อไป ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในทุกมิติและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะมีโครงการอื่น ๆ ตามมาอีก
นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions รักษาการผู้บริหารสายงานบริหารจัดการเงินเพื่อธุรกิจและสายงานเทคโนโลยี ธนาคารกรุงไทยฯ กล่าวว่า ในฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็น 1 ใน 5 Ecosystem ที่ ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญเสมอมา เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมโยงข้อมูลและบริการต่าง ๆ โดยล่าสุดได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรมการจัดการด้านการดูแล ติดตามและเฝ้าระวังทางสุขภาพของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก รวมถึงการหักซ้ำ ซึ่งเป็นการรวมพลังขององค์กรชั้นนำจากหลายภาคส่วน ทั้งจากวงการแพทย์ หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการเงิน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ได้รับการบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มและกระดูกหัก การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและป้องกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบสุขภาพในประเทศไทย ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตามวิสัยทัศน์ กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน