อาชีวะ – มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ลงนามบันทึกความเข้าใจบูรณาการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กลับมาดำรงชีวิตได้ปกติอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ศ. ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยเรื่องร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติที่ร้ายแรง ร่วมลงนาม ระหว่าง มูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ฯกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) โดยนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ห้องประชุมมหินทรเดชานุวัตน์ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)ฯ กรุงเทพฯ

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ฯจัดตั้งตามพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงดำรงตำแหน่ง องค์นายกกิตติมศักศักดิ์ตลอดชีพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงดำรงตำแหน่ง องค์ประธานกรรมการมูลนิลนิธิฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากภัยพิบัติที่รุนแรงและบูรณาการความช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติอย่างครบวงจรให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตอย่างปกติได้อย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิ ฯ ได้ดำเนินงานตาม พันธกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่ พันธกิจ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย การบรรเทาทุกข์ระหว่างเกิดอุทกภัย และการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย ซึ่งที่ผ่านมา สอศ. ให้การสนับสนุนมูลนิธิฯ ผ่านโครงการ “Fix It Center” ในการซ่อมและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือประกอบอาชีพ และโครงการระยะยาว เช่น โครงการ “ฟื้นฟูแหล่งน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน” และ สอศ. ให้การสนับสนุนบุคลากร ร่วมปรับปรุง ซ่อมแชม และบำรุงรักษา ฝ่ายชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการชะลอน้ำ การดักจับตะกอน และเป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภคของชุมชน

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ในนามสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีความยินดีในโอกาสร่วมกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ และภัยพิบัติที่รุนแรง ตลอดจนการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัย รวมถึงงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านฟื้นฟูของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ ) ยามยาก สภากาชาดไทย โดย สอศ. เป็นองค์กรหลักการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิชาชีพ ส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา นำวิชาชีพมาฝึกปฏิบัติจริง ปลูกฝั่งการมีจิตอาสาและทักษะชีวิตใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง และสังคม ซึ่งจากการเรียนของนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ เช่น สาขาอาหารและโภชนาการ สาขาช่างยนต์ สาขาช่างไฟฟ้า นักศึกษาสามารถนำความรู้มาช่วยเหลือประชาชนได้ในทุกสถานการณ์

“จากเหตุการณ์อุทกภัยในจ.เชียงรายที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ สอศ. ดำเนินการจัดศูนย์อาชีวะอาสา Fix it Center ในจ.เชียงราย จำนวน 45 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 25 แห่ง ให้บริการประชาชน ชาวบ้าน ชุมชน สถานศึกษา และครอบครัวนักเรียน นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ ครัวอาชีวะอาหารปรุงสุก บริการซ่อมแซมเครื่องไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ เป็นต้น ซึ่ง สอศ. ยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมสนับสนุนภารกิจของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป”นายยศพลกล่าว